แหล่งเรียนรู้

"เรื่องเล่าของซาลาเปาที่เขาว่าเลิศรส"

เมื่อคราวที่ได้บรรจุเป็นข้าราชการครูที่ต่างจังหวัด ช่วงวันหยุดยาวหลายคนต่างแยกย้ายกลับบ้านเกิดที่ทุกคนจากมา จนพอถึงวันเริ่มต้นการทำงานอีกครั้งเพื่อนๆ ต่างหอบหิ้วของฝากมาจากบ้าน ฉันเริ่มคิดว่าบ้านเรามีอะไรที่จะพอที่จะไปฝากเพื่อนครูได้บ้าง

ฉันเกิดและโตที่อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี บ้านเกิดของฉันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยมังสาหารดังชื่ออำเภอ เป็นเมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำมูลที่มีตลาดตอนเช้าที่คึกคัก เต็มไปด้วยผู้คนที่นำกุ้ง หอย ปู ปลา และผักนานามาค้าขาย อาหารมากมายมีมาให้เลือกสรร
เรามีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อคือแก่งสะพือ แก่งหินที่แม่น้ำมูลไหลผ่านเกิดความสวยงามให้คนมาเยี่ยมชม

นักท่องเที่ยวที่มาเยือนจังหวัดอุบลราชธานี จะรู้จักอำเภอพิบูลมังสาหารว่าเป็นอำเภอริมแม่น้ำมูล

มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงคือ แก่งสะพือ
ซึ่งเป็นแก่งที่สวยงามในแม่น้ำมูล ตั้งอยู่ในตัวอำเภอพิบูลมังสาหาร ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานี
ตามทางหลวงหมายเลข 217 ประมาณ 45 กม. คำว่า “สะพือ” เพี้ยนมาจากคำว่า “ซำฟืด” หรือ “ซำปึ้ด” ซึ่งเป็นภาษาส่วยแปลว่า งูใหญ่ หรืองูเหลือม แก่งสะพือเป็นแก่งที่มีหินน้อยใหญ่ สลับซับซ้อน เมื่อกระแสน้ำไหลผ่านกระทบหินแล้วเกิดเป็นฟองขาวมีเสียงดังตลอดเวลา
ช่วงที่เหมาะสำหรับเที่ยวชมแก่งสะพือคือช่วงหน้าแล้ง
ราวเดือนมกราคม-พฤษภาคม เพราะน้ำจะลดเห็นแก่งหินชัดเจน สวยงาม


ส่วนหน้าฝนน้ำจะท่วมมองไม่เห็นแก่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จพระราชดำเนินมาชมแก่งนี้ด้วย 2 ครั้ง ริมฝั่งแม่น้ำมีศาลาพักร้อน และร้านขายสินค้าพื้นเมือง ในวันหยุดมีประชาชนมาเที่ยวพักผ่อนกันเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้แล้วในเดือนเมษายนของทุกปี ช่วงเทศกาลสงกรานต์ เทศบาลตำบลพิบูลมังสาหาร ได้จัดงาน ประเพณีสงกรานต์แก่งสะพือ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและประเพณีอันดีงามด้วย

สวนสาธารณะภูหล่น เป็นสวนสาธารณะกึ่งแหล่งท่องเที่ยว สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2543 มีเนื้อที่ประมาณ 61 ไร่ จุดเด่นของสวนสาธารณะนี้คือ มีต้นสุพรรณิการ์ กว่า 200 ต้น ซึ่งต้นสุพรรณิการ์ หรือที่ทางภาคเหนือเรียกว่า ฝ้ายคำ นี้จะออกดอกสีเหลืองบานสะพรั่งเต็มลาน ตั้งแต่เดือนธันวาคม จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ มีทั้งดอกที่บานอยู่บนต้น และดอกที่ร่วงหล่นตามพื้นดินจนเหลืองไปหมด ชาวบ้านหรือนักท่องเที่ยวที่ได้ชม ต่างพากันเรียกว่า ทุ่งดอกซากุระอีสาน เมืองอุบลราชธานี มีความสวยงาม สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่ได้ชมและนักท่องเที่ยวทั่วไป

เมื่อมีแหล่งท่องเที่ยวก็ย่อมมีของฝากตามมา เรามีกล้วยแปรรูปเรียกว่า กล้วยเบรกแตก ขายที่ แก่งสะพือเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ซื้อกลับไปฝากกัน เขาว่ากันว่า กินแล้วอร่อยจนหยุดไม่ได้จึงเรียกว่า กล้วยเบรกแตก นี่แหละของฝากบ้านเรา ทำเป็นถุงๆ แบ่งเพื่อนกินกันได้หลายคน เคยซื้อไปฝากเพื่อนที่ต่างจังหวัดก็ถูกใจกันไป หนังกบตากแห้งที่แก่งสะพือก็มีขาย แต่ไม่รู้ว่าบางคนจะกินเป็นหรือไม่

ครั้งหนึ่งที่ฉันกลับบ้าน แม่บอกว่า ทำไมไม่ซื้อซาลาเปาไปฝากครูที่โรงเรียน ฉันเห็นว่ามันเป็นความยุ่งยาก ซาลาเปาต้องกินร้อนๆ เย็นแล้วไม่อร่อย แม่บอกว่า ก็อุ่นเอา ด้วยความที่เป็นคนมักง่าย ซื้อฝากไป2 กล่อง หาที่ที่เพื่อนอยู่รวมกันหลายคน ช่วยกันกินเดี๋ยวก็หมด เราไม่ต้องอุ่น แล้วภาพที่เห็นในวันนั้นก็คือ ซาลาเปาหมดเกลี้ยง เพื่อนที่สนิทสนมก็บอกว่า ทำไมซื้อมาน้อยจัง อร่อยมาก คราวหน้าจะฝากซื้อนะ ฉันก็บอกเล่าตามเหตุผลและความเชื่อ มันต้องกินร้อนๆ เย็นแล้วไม่อร่อย เพื่อนก็บอกว่า เราไม่ชอบกินซาลาเปา เคยกินที่อื่น แป้งไม่อร่อย แต่นี่ลองชิมเคยได้ยินว่าซาลาเปาพิบูลอร่อย เออ อร่อยจริงด้วย แป้งเขาไม่เหมือนที่อื่นเย็นแล้วยังนุ่มกินสบายเลย การคุยเรื่องซาลาเปาในคราวนั้นทำให้เกิดคราวหน้า แน่นอนละ คราวหน้าฉันคงต้องชิม มันอร่อยจริงหรอ คำถามเกิดขึ้นในใจของคนที่ไม่ชอบกินซาลาเปา


คำการันตีจากคนนอกพื้นที่สร้างความอิ่มเอิบใจให้กับคนที่สำนึกรักบ้านเกิดอย่างฉัน และฉันต้อง ไม่พลาดที่จะกลับไปชิมซาลาเปาพิบูลอย่างแน่นอน ร้านซาลาเปาพิบูลที่เป็นต้นตำรับขายมาแต่แรกๆ นั้น อยู่ตรงเชิงชะพานข้ามแม่น้ำมูลทางเข้าแก่งสะพือ บางคนเลี้ยวขวาไปจอดที่ลานจอดรถแล้วเดินข้ามถนน ตรงเชิงสะพานมานิดเดียวก็ถึง  ร้านนี้เดิมเป็นร้านกาแฟ เมื่อก่อนเรียกว่า ร้านกาแฟพิบูล หรือบางคนก็บอกว่าร้านนี้ชื่อร้าน ซิมยู เลขที่ 32 ถนนหลวง อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ร้านนี้มีมาตั้งแต่ฉันจำความได้ นั่นหมายถึง 30 ปี และพอถามแม่ว่าร้านซาลาเปานี้มีมานานหรือยัง คำตอบก็คือ ตั้งแต่แม่ ยังเล็กๆ นั่นก็คือ 50 ปีแล้วสินะ ความยาวนานของร้านนั้นบอกฉันถึงความเชื่อมั่นของลูกค้า ร้านนี้อยู่มานานกว่า 50 ปี เชื่อกันว่ามีสูตรลับพิเศษที่ตกทอดมาหลายชั่วอายุเพราะบรรพชนอพยพมาจากเมืองจีนได้ สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น มีความอร่อยคงทน เนื้อแป้งหอม นุ่ม ไส้ในก็มีความโดดเด่นเฉพาะตัว โดยมีทั้ง ไส้หวานที่เป็นถั่วดำบดละเอียดและไส้เค็มที่มีเนื้อหมู กุ้ง และหน่อไม้ เป็นส่วนผสม ในความลงตัวของสูตรไส้ซาลาเปาคงความอร่อยติดปากมาจนทุกวันนี้ ถ้าใครมาแล้วไม่ได้ลิ้มรสซาลาเปาเจ้าเก่าคงยังไม่เข้าถึง ของอร่อยเมืองพิบูล


นางนิภา แซ่ลี้ อายุ 66 ปี เจ้าของร้าน ซิมยู เล่าว่า ขายซาลาเปามาตั้งแต่ปี 2509 เป็นเจ้าแรกของอำเภอพิบูลมังสาหาร ช่วงที่เริ่มขายแรกๆ จะขายตามโรงเรียนและขายที่ตลาดคือบริเวณที่ตั้งร้านในปัจจุบัน สมัยก่อนเป็นตลาดสด ริมแม่น้ำ ขายดีเรื่อยมาเมื่อเริ่มแรกนั้นราคา 2 บาท ต่อมาเพิ่มเป็น 3 บาท จนกระทั่งประมาณ 20 กว่าปีมาแล้วจนถึงปัจจุบันขายลูกละ 5 บาท

ซาลาเปาพิบูลของแท้ดั้งเดิมร้านของคุณยายนิภา จะมีอยู่ 3 ไส้เท่านั้น คือ ไส้หวาน (เนื้อไส้สีดำทำจากถั่วดำ) ไส้หน่อไม้และไส้หมูสับ ปัจจุบันก็ยังทำขายเฉพาะสามไส้นี้เท่านั้น แต่กาแฟไม่ได้ขายแล้ว เมื่อขายดีมากๆ จึงมีร้านอื่นๆ เกิดขึ้นมามากมาย บางร้านพัฒนาสูตรให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น

จากการพูดคุยกับคุณยายนิภาว่า เมื่อมีร้านเกิดขึ้นมากมายมีผลกระทบต่อรายได้ของคุณยายหรือไม่ คุณยายบอกว่าขายได้เหมือนเดิมเป็นร้านมีชื่อเสียงที่คนรู้จักอยู่แล้ว ลูกค้าก็เป็นลูกค้าประจำ การผลิตก็ เท่าเดิม ไม่ได้ทำมาก เมื่อก่อนมีคนช่วยตอนนี้ทำคนเดียวก็ทำเท่าที่ทำได้ ต่อไปว่าจะให้ลูกให้หลานทำแล้ว

นางสีนวล มิ่งขวัญ ประกอบอาชีพค้าขายของชำเครื่องใช้เครื่องสอยต่างๆ นานา มาช้านาน และเป็นอีกผู้หนึ่งที่หันมาทำซาลาเปาขายเป็นเวลาสองสามปีแล้ว จนสามารถสร้างฐานะให้พลิกผัน จากพออยู่ พอกินกลายมาเป็นเหลือเก็บเหลือกิน ปลอดหนี้สินทุกระบบ ซึ่งนางสีนวล มิ่งขวัญ บอกว่า เนื่องจากชุมชนหรือหมู่บ้านภูเขาแก้วตั้งอยู่ริมทางหลวงซึ่งเป็นเส้นทางสู่แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังมากมายหลายที่ของจังหวัดอุบลราชธานี จึงได้เปรียบในด้านทำเลการค้าอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะประเภทอาหารการกินจะขายดีมาก และหนึ่งในจำนวนสินค้าริมทางที่สร้างชื่อสร้างเงินให้กับชาวบ้านที่นี่ก็คือ ซาลาเปา

ทุกวันนี้มีร้านซาลาเปาเรียงรายให้ผู้มาเยือนเลือกสรรตามข้างทางเข้าสู่อำเภอพิบูลมังสาหาร และร้านที่เกิดขึ้นตามถนนหลวงแถวร้านดั้งเดิมร้านของซิมยู หลายร้าน ซึ่งซาลาเปาพิบูลนี้ถือว่าเป็นสินค้าโอทอปของ อ.พิบูลมังสาหาร ด้วยความอร่อยจากสูตรดั้งเดิมนี้จึงมีการพัฒนาอาหารเป็นของฝากที่เป็นซาลาเปา ในพิบูลอีกหลากหลายรสชาติ และกลายเป็นอัตลักษณ์ของซาลาเปาที่เลิศรส จนเป็นคำกล่าวที่ว่า ซาลาเปาพิบูลอร่อยที่สุดก็ว่าได้ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะซื้อกลับไปด้วยทุกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม หากอยากชิมรสชาติของซาลาเปาพิบูล คนพิบูลขอแนะนำร้านต้นตำรับแท้ๆ เชิงสะพานข้ามแม่น้ำมูลที่แก่งสะพือ ไม่อย่างนั้นคุณอาจจะพลาด ซาลาเปาที่เขาว่าเลิศรสอย่างซาลาเปาพิบูลไปได้


ข้อมูลจากการสัมภาษณ์

นิภา แซ่ลี้. (10 พฤศจิกายน 2559). สัมภาษณ์. ราษฎร. ชุมชนวัดกลาง ตำบลพิบูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี.

สีนวล มิ่งขวัญ. (9 พฤศจิกายน 2559). สัมภาษณ์. ราษฎร. ชุมชนวัดภูเขาแก้ว ตำบลพิบูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี